We can live together
aidstalk
article
ความตายอนุญาตให้เราได้รักกัน

เด็กชาย “พร กำพร้าผีน้อย” ผู้ออกเดินทางฝ่าความมืดออกไปอย่างเงียบงันจากบ้านนายเจ๊กผา เจ้าของร้านค้า ในวันที่นายเจ็กผาเผาจุดไฟดวงแรกสว่างขึ้นในหมู่บ้าน จากวันที่ทอดเท้าเปลือยเปล่าเดินบนทางเดินดินทรายสู่กระท่อมท้ายหมู่บ้าน จนถึงวันนี้เขาคือคนหนุ่มผู้กำลังเดินทอดเท้าบนทางลาดยางเข้าสู่หมู่บ้าน
 

มีรถยนต์หลายคันทีเดียวของคนในหมู่บ้านที่จอดรับเขา ด้วยเพราะยังจำเขาได้และด้วยความยินดีกับตำแหน่งปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลที่เขาเพิ่งได้รับมา แต่หลังทักทาย “พร” ขออนุญาตเดินเท้าต่อ เขายังอยากสัมผัสความทรงจำ ความรู้สึกมากมายต่างๆ ในหมู่บ้านของเขา ที่ตอนนี้กำลังประดังเข้ากระทบจิตใจในแทบทุกก้าวที่เท้าทอดย่าง เขายังรู้สึกถึงมันอยู่เช่นนั้น จนกว่าจะถึงกระท่อมหลังเดิมท้ายหมู่บ้าน ด้วยระยะทางที่ยังอีกไกลราว 3 กิโลเมตร คงจะทำให้ความรู้สึกถึงหมู่บ้านที่เกิดขึ้นที่แท้จะยังไม่ครบถ้วนแต่ก็คงมากมายใกล้อิ่ม
 

คุณยายเขาเสียชีวิตแล้ว แม้คุณยายไม่บอกว่าพ่อกับแม่เขาเสียชีวิตเพราะติดเชื้อเอดส์ เขาก็ตระหนักและซาบซึ้งดี สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นกับลูกผู้ติดเชื้อเขาประสบมาแล้วอย่างครบถ้วน จะโทษชะตากรรมหรือไม่ เขาไม่เคยเคยคิด หากแต่คิดอยู่เสมอๆ ว่าจะทำอย่างไรจะช่วยเหลือผู้ติดเชื้อและครอบครัวของผู้ติดเชื้อได้ เพราะหลังจากตัวเขาแล้วก็มีลูกผู้ติดเชื้อถือกำเนิดขึ้นอีกหลายคน น่าเห็นใจที่เขาเหล่านั้นไม่ได้โชคดีเหมือนเขา เพราะเขาเกิดก่อนที่พ่อแม่จะอพยพเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ และติดเชื้อหลังจากนั้น
 

เรื่องราวการทำงานของพี่ทั้ง 6 คน เขาได้รับรู้มาตลอด และในวันนี้ที่เขาสามารถสอบบรรจุเข้าทำงานปลัดองค์การบริการส่วนตำบลของเขาได้ และจะสามรถทำงานตามปณิธานของเขาได้หรือไม่ เขาเองยังมุ่งมั่นและคาดหวัง พร ลูกชายผู้ติดเชื้อ หวนทบทวนเรื่องราวของพี่ๆ ทั้ง 6 คนของเขาอีกครั้งด้วยความรู้สึกยินดี พวกเธอทุกคนต่างผ่านช่วงแห่งความทุกข์ยากเข็น เพื่อมาดำรงอยู่ในปัจจุบันที่มีคุณค่านี้ และต่างจะทำงานเสียสละเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของผู้ติดเชื้อรายอื่นๆ พวกเขาแต่ละคนช่างน่าทึ่งในความเข้มแข็ง และมั่นคงของจิตใจ แม้จะอยู่ในสถานะ “ถูกกระทำ” แต่พวกเธอไม่เคยเอ่ยว่า “ไม่พร้อม” หากยังคงยืนหยัดท้าทายโดยไม่หวั่นไหว
 

มันคงเป็นผลพวงจากการต่อสู้ภายในใจของตัวเอง ตั้งแต่ครั้งรู้ผลเลือด เป็นผลมาจากพาตัวเองข้ามผ่านโมงยามแห่งความท้อแท้ สิ้นหวัง หดหู่ และเศร้าหมดอาลัย ตายอยาก หรือข้ามพ้นผ่านความเครียดแค้นก่นด่าชะตากรรม และผ่านพ้นนาทีแห่งการตัดสินใจ “ตาย” กว่าจะยอมรับตัวเองได้ และลุกขึ้นยืนอีกครั้งด้วยจิตใจที่นอบน้อม
 

กระนั้นแรงเสียดทานและกดทับจากสังคม ก็รุมทำร้ายด้วยความรังเกียจ อันเกิดจากความหวาดกลัวที่ซ่อนลึกใต้จิตสำนึก จะมีใครสักกี่คนที่โอบกอดตัวเองแล้วฝ่าห่าฝนแห่งสายตาดูถูกเหยียดหยาม ถ้อยคำ สมน้ำหน้า ตำหนิติฉิน และการเลือกปฏิบัติราวกับร่างกายไม่ใช่คน
 

ในสนามของการต่อสู้ เพื่อเอาตัวรอดของชีวิตและครอบครัว การดิ้นรนทำมาหากินกับภาวะเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ สังคม การเมือง เราต่างก่นด่าว่ายากแค้นแสนเข็ญ พวกเธอเองก็ลงแข่งในสนามเดียวกันกับพวกเรา โดยไม่ได้รับการยกเว้นให้ได้เปรียบ-เสียเปรียบใดๆ
 

พวกเราเองต่างหากที่เป็นฝ่ายเอาเปรียบ
 

จะใช้คำว่า “เลือกปฏิบัติ” หรือคำใดๆ แต่ก็คือวิธีการกีดกันพวกเธอออกจากสนามแข่งขัน ไปสู่ตรอกมืดที่ไม่มีทางเลือกใดๆ ในการเลี้ยงดูชีวิตและครอบครัว มีเพียงเพราะเธอติดเชื้อไวรัสในร่างกาย
 

ยามที่พวกเรากำลังใช้ชีวิตอย่างประมาท สนุกสนามกับประโยชน์ (ส่วนแบ่งของพวกเธอ) ที่เพิ่มมากขึ้น ขณะนั้นพวกเธอกำลังต่อสู้กับโรคฉวยโอกาส ควบคุมวินัยทานยา รักษาคุณภาพชีวิตและร่างกายให้เข้มแข็ง ท่ามกลางข้อจำกัดมากมาย เพื่ออดออมเอาเรี่ยวแรงที่เหลืออยู่ มาเสียสละทำงานสู้รบปรบมือ ใช้พลังทางความคิด ใช้ความอดทน ใช้ความเข้าใจ และกระทั่งใช้ “หัวใจ” และ “ความรัก” กับพวกเรา 
 

เพียงเพื่อให้พวกเรายอมรับ และเข้าใจผู้ติดเชื้อเพื่อนของพวกเธอเท่านั้น พวกเธอก็มีความสุขอย่างที่สุด ไม่ว่าใครจะยอมรับมันหรือไม่ว่า นั่นคือ คุณค่าใหม่และศักดิ์ศรีที่พวกเธอได้สร้างขึ้นให้แก่ตัวเอง
 

เสียงนาฬิกาปลุกดังขึ้นแล้ว เป็นเสียงเตือนว่าได้เวลาทานยาต้านเชื้อไวรัสแล้ว มันเหมือนเตือนให้กลับมาดำรงอยู่กับปัจจุบันขณะ
 

ปัจจุบันขณะ...
 

ไม่มีวานนี้
 

ไม่มีพรุ่งนี้
 

...........................................................................................................................................................................................................................................................................................................
 

 “โลกใบนี้ยังมีเพื่อน” เรื่องเล่าจากกลุ่มเพื่อน “เครือข่ายการช่วยเหลือทางสังคม” ผ่านประสบการณ์ 5 ปี โครงการดูแลผู้หญิงหลังคลอดและครอบครัวที่ติดเชื้อ เอช ไอ วี ในชุมชน (ECAT) พื้นที่ภาคอีสาน สนับสนุนโดย มูลนิธิเอดส์แห่งประเทศไทย