We can live together
รู้จักมูลนิธิเอดส์
ความเป็นมา
ในปีพ.ศ. 2540 ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและควมคุมโรคเอดส์แห่งชาติ ได้มีการนำเสนอแนวคิดในการจัดตั้งมูลนิธิเอดส์แห่งชาติ โดยมุ่งหวังให้เป็นองค์กรระดมทุนระดับชาติซึ่งทำหน้าที่ระดมทุนจากภาคธุรกิจและขอรับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐ(กระทรวงสาธารณสุข) เพื่อสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานเรื่องเอดส์แก่องค์กรเอกชนหรือองค์กรชุมชนและดูแลองค์กรเอกชนที่ทำงานด้านเอดส์ให้มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการเรื่องทุนและต่อมาในสมัยนายกรัฐมนตรีชวนหลีกภัยเป็นประธานคณะกรรมการเอดส์ชาติฯได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการจัดตั้งมูลนิธิฯโดยการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาการจัดตั้งมูลนิธิเอดส์แห่งชาติในเดือนกุมภาพันธ์พ.ศ. 2541

คณะทำงานฯเปิดรับฟังความคิดเห็นขององค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ในการจัดรูปแบบองค์กรที่มีหน้าที่ในการระดมทุน และพัฒนางานขององค์กรพัฒนาเอกชนและกลุ่มผู้ติดเชื้อฯบนพื้นฐานการมีส่วนร่วม ซึ่งองค์กรพัฒนาเอกชนและกลุ่มผู้ติดเชื้อฯเห็นด้วยกับบทบาทของมูลนิธิฯในการระดมทุนจากภาคส่วนต่างๆโดยมูลนิธิฯต้องมีความเป็นกลาง โปร่งใส ไม่อิงหรือเป็นเครื่องมือให้กับองค์กรใดองค์กรหนึ่งต้องมีโครงสร้างที่มีองค์ประกอบชัดเจนมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันของกรรมการจากภาคีต่างๆทั้งภาครัฐองค์กรพัฒนาเอกชนกลุ่มผู้ติดเชื้อและภาคธุรกิจ

หลังจากที่ได้ข้อสรุปร่วมกันแล้วคณะกรรมการผู้ริเริ่มจัดตั้งมูลนิธิฯชุดแรก3 คน ประกอบด้วยนายแพทย์ยุทธโพธารามิก (อธิบดีกรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข) นายพร้อมบุญพานิชภักดิ์ (ประธานคณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์-กพอ.) และนายภูมิชายล่ำซำ (บริษัทเมืองไทยประกันชีวิต) ร่วมกับตัวแทนองค์กรภาคี 4 ฝ่าย ซึ่งประกอบด้วย ภาครัฐองค์กรพัฒนาเอกชนกลุ่มผู้ติดเชื้อและภาคธุรกิจจำนวน 16 คนได้ดำเนินการจดทะเบียนในชื่อ“มูลนิธิเอดส์แห่งประเทศไทย(มอท.)”หรือ“Thai National AIDS Foundation (TNAF)”เมื่อวันที่ 19 กันยายนพ.ศ. 2542 
วัตถุประสงค์
 


​1. เป็นองค์กรกลางในการระดมทุน หรือทรัพยากรอื่นๆ ที่จะนำมาสนับสนุนองค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ และองค์กรชุมชนในเรื่องเอดส์

2. เป็นองค์กรประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน องค์กรชุมชน และกลุ่มผู้ติดเชื้อ เอชไอวี/เอดส์ ในการจัดสรรทุน และดำเนินการร่วมกันในเรื่องเอดส์

3. ส่งเสริม และสนับสนุนกิจกรรมเกี่ยวกับการรณรงค์ จัดหาทุน เพื่อกิจกรรมด้านเอดส์

4. ให้การสนับสนุน เพื่อให้เกิดความรู้ทางวิชาการมาพัฒนางานด้านเอดส์

5. สนับสนุนให้มีการติดตามประเมินผลขององค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ และองค์กรชุมชน อันจะนำไปสู่การพัฒนานโยบาย ต่อการปฎิบัติที่มีประสิทธิภาพ

6. สนับสนุนและเผยแพร่กิจการขององค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ และองค์กรชุมชน